ขายของยุคใหม่ ไม่ใช่แค่ “Transaction” แต่เป็น “Relation”
การเปลี่ยนแปลงของการช้อปปิ้งยุคใหม่ ทั้งในด้านเทคโนโลยีและพฤติกรรมผู้บริโภค
อาจเป็นภัยคุกคาม ทำให้ร้านค้าแบบดั้งเดิมจำนวนมากต้องเจอปัญหาหนักถึงขั้นเลิกกิจการ
ขณะเดียวกัน อาจเป็นการแจ้งเกิดของผู้ประกอบการ ที่มอง “ภัยคุกคาม” นี้เป็นโอกาส
ในการพัฒนาธุรกิจให้ตอบรับความต้องการของผู้บริโภคได้มากกว่าเดิม
เราลองมองย้อนไป 20-30 ปีที่แล้ว ร้านค้าปลีกในไทย ได้เริ่มนำเทคโนโลยีอย่าง POS หรือ Point of Sale
เข้ามาใช้ในการบริหารจัดการร้านค้า ทำให้เวลาขายแต่ละครั้ง สินค้าจะถูกตัดสต๊อกทันที
ร้านจะรู้ว่ามีการขายอะไรออกไปบ้าง สินค้าตัวไหนขายดี ทำให้สามารถรู้ถึงความต้องการของลูกค้า
ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการต่อยอดไปถึงการผลิตสินค้าได้ตรงกับความต้องการของลูกค้าได้มากขึ้น
กลับมามองยุคปัจจุบัน ยุคที่เทคโนโลยีเติบโตแบบก้าวกระโดด
พฤติกรรมผู้บริโภคได้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ลูกค้าซื้อของทั้งช่องทาง “หน้าร้าน”และ “ออนไลน์”
ซึ่งในแต่ละ Customer Journey หรือเส้นทางของผู้บริโภค ได้สร้างข้อมูล หรือ Data ที่มีค่าไว้มากมาย
พูดได้ว่า Data is the new oil ข้อมูลกลายเป็นพื้นฐานหลักในการผลักดันเศรษฐกิจ
รอให้ธุรกิจมาเจาะอินไซต์ เพื่อพัฒนาสินค้าและบริการให้ตรงใจลูกค้า
และสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าในระยะยาว
เวลาที่เราอยากเริ่มสร้างสัมพันธ์กับใครสักคน จะไม่ยากเลยถ้าเรารู้ว่าเขาเป็นใคร ชอบหรือไม่ชอบอะไร
ธุรกิจก็เช่นกัน อยากอยู่รอดต้องเข้าใจลูกค้า เริ่มเก็บและวิเคราะห์ Data เพื่อสร้างสัมพันธ์กับลูกค้ากลุ่มที่ใช่
ซึ่งการจัดเก็บ Data ของร้านค้าปลีกนั้น ไม่มีอะไรจะดีไปกว่าการเก็บข้อมูลจากการซื้อทุกครั้ง
ซึ่งเครื่องมือที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือ “ระบบสมาชิก” นั่นเอง
ข้อมูลลูกค้า การซื้อสินค้า การชำระเงิน ตลอดจนการส่งสินค้า เราสามารถนำมามาวิเคราะห์เชิงลึก
เพื่อช่วยให้คาดการณ์ ตัดสินใจ และวางแผนเรื่องต่างๆ ในการบริหารร้านค้าได้
การใช้ประโยชน์จาก Data นั้นนอกจากจะช่วยในการบริหารสต็อก
คาดการณ์ได้ว่าช่วงเวลาไหน พื้นที่ใด สินค้าอะไรจะขายดี ลดการเสียโอกาสในการขาย
เรายังสามารถใช้ Data ในการทำ Personalized Marketing อย่างการเสนอสินค้าและโปรโมชั่น
ที่ตรงใจสำหรับลูกแต่ละคน เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกประทับใจและสนุกกับการช้อปปิ้งในร้านเรา
อีกทั้งเมื่อมีการยกเลิกออเดอร์หรือลูกค้ายังไม่ตัดสินใจซื้อ
การใช้ Data จะทำให้เรารู้ถึงสาเหตุ และสามารถปรับปรุงสินค้าหรือบริการได้อย่างตรงจุด
นอกจากนี้ การใช้ Data ยังทำให้เราเข้าใจเบื้องลึกทางความคิด และความต้องการของลูกค้า
ซึ่งจะช่วยให้เราพัฒนาสินค้าและบริการ ตลอดจนสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆได้อีกด้วย
การเก็บ Data นั้น ทำให้การซื้อขายในแต่ละครั้ง ไม่ใช่เป็นแค่เพียงการทำธุรกรรมซื้อขาย หรือ “Transaction” เท่านั้น แต่เป็นการทำ “Relation” ที่จะเป็นการสร้างสายสัมพันธ์กับลูกค้าในระยะยาว
ในยุคที่ผู้บริโภคมีความต้องการ และกระบวนการตัดสินใจที่ซับซ้อนขึ้น
การทำความเข้าใจพฤติกรรมของลูกค้าในเชิงลึกนั้น สำคัญมากในการสร้างสายสัมพันธ์กับลูกค้าในระยะยาว
ถ้าไม่ปรับตัวมาใช้ประโยชน์จาก Data อาจทำให้เราต้องเผชิญกับข้อจำกัดด้านการแข่งขันในอนาคตอันใกล้
ดังนั้น เราควรศึกษาและนำประโยชน์จาก Data มาปรับใช้กับธุรกิจอย่างเหมาะสม
เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้เหนือกว่าคู่แข่ง หรืออย่างน้อยก็สามารถทัดเทียมกับคู่แข่งในตลาดได้
“Consumer data will be the biggest differentiator in the next two to three years. Whoever unlocks the reams of data and uses it strategically will win.”
Angela Ahrendts, Senior Vice President of Retail at Apple Inc.